Paul Kasemsap

พรพิพัฒน์ เกษมทรัพย์

Paul Kasemsap

~wondering how plants turn air+water+dirt into food!

5 August 2020 -

ไนโตรเจน...ธาตุอาหารพืชเปลี่ยนโลก


รู้ไว้ใช่ว่า…

“ไนโตรเจน” เป็นธาตุสำคัญ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตพืชแบบก้าวกระโดดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะช่วยเติมเต็มธาตุอาหารที่พืชขาดแคลน ทำให้มนุษย์สามารถผลิตอาหารเลี้ยงคนทั่วโลกได้

ทำไมไนโตรเจนถึงสำคัญ? – รู้ไหมว่า ในอากาศที่เราหายใจ แม้จะเต็มไปด้วยออกซิเจน อันที่จริงแล้ว มีออกซิเจนเป็นส่วนประกอบเพียงแค่ 21% หรือประมาณ 1 ใน 5 เท่านั้น!! แก๊สที่เป็นใหญ่ในอากาศกลับเป็นแก๊สไนโตรเจน (N2, N≡N) ที่มีอยู่กว่า ¾ ของส่วนประกอบทั้งหมด

ทว่า…พืชกลับไม่สามารถใช้งานเจ้าธาตุไนโตรเจน 2 อะตอมในแก๊สไนโตรเจนที่มีอยู่เต็มบรรยากาศได้ง่ายนัก เพราะความแข็งแรงของ “พันธะเคมี (โควาเลนซ์)” จำนวน 3 พันธะ ที่ทั้งสองอะตอมใช้แบ่งปันอิเล็กตรอนกันอยู่ ด้วยเหตุนี้ การขาดธาตุไนโตรเจนจึงเป็นปัจจัยจำกัดการเติบโตของพืชทั่วโลก (…ยกเว้นเจ้าพวกถั่ว ที่เซ็นสัญญาสร้างพันธมิตรกับเหล่า “ไรโซเบียม” ยอมให้มาอาศัยในราก แลกกับการช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาให้ใช้)

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ไนโตรเจนมีบทบาทในเวทีโลก คือการค้นพบระดับรางวัลโนเบลของนักเคมีชาวเยอรมัน คุณฮาเบอร์ และคุณบอช ที่ทำให้มนุษย์สามารถตรึงแก๊สไนโตรเจน โดยทำปฏิกิริยากับแก๊สไฮโดรเจน (H2)…. เกิดมาเป็นแก๊สแอมโมเนีย (NH3) …ใช่แล้วครับ! มันคือเจ้ากลิ่นฉุนที่เราดมในห้องพยาบาลเวลาจะเป็นลม

เจ้ากระบวนการนี้ จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความดัน และอุณหภูมิสูงมากกกกก เพื่อจะทำลายเยื่อใย (พันธะเคมี) ระหว่างไนโตรเจนทั้งสองอะตอม ให้ยอมมาสร้างพันธะใหม่กับอะตอมของไฮโดรเจน… และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตปุ๋ยเคมีไนโตรเจนเพื่อการเกษตร ทำให้มนุษย์สามารถเอาชนะข้อจำกัดปริมาณไนโตรเจนในดิน และเพิ่มผลผลิตอาหารได้อย่างมหาศาล

ทว่า… ในเมื่อการทำลายพันธะของแก๊สไนโตรเจน ต้องใช้พลังงานมหาศาลใส่ลงไปในระบบเพื่อแยกเจ้าไนโตรเจนออกจากกัน ท่านคงจะเดาได้ว่า กระบวนการ “ย้อนกลับ” ของปฏิกิริยานี้ ย่อมปลดปล่อยพลังงานมหาศาลเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ การตรึงไนโตรเจนจากอากาศของคุณฮาเบอร์ และบอช จึงไม่เพียงทำให้มนุษย์เข้าถึงปุ๋ยเคมีที่ช่วยผลิตอาหารเลี้ยงโลก แต่ยังเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่ประเทศเยอรมันใช้สร้างระเบิด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

สารประกอบไนโตรเจน จึงเป็นสารสำคัญกลุ่มหนึ่งที่หน่วยรักษาความปลอดภัยในสนามบินตรวจสอบตามหาอย่างเข้มงวด ถ้าใครคิดจะให้ปุ๋ยไนโตรเจนกับพืชที่บ้านก่อนเดินทาง ก็อย่าลืมล้างมือ อาบน้ำเปลี่ยนชุดให้สะอาดเรียบร้อยเสียก่อนจะผ่านไปสนามบิน เพราะปุ๋ยเคมีที่ให้พืช แม้ว่าจะมีส่วนประกอบแตกต่างกันไป (ยกตัวอย่างเช่น ปุ๋ยไนโตรเจน “แอมโมเนียมไนเตรต” (NH4NO3) เป็นสารประกอบที่มีแค่ 3 ธาตุหลักคือ N, H และ O – พืชชอบไนโตรเจนจากเจ้าปุ๋ยนี้มากกกก จะเติบโตได้ดีสุด ๆ เพราะช่วยรักษาสมดุลธาตุอาหาร และความเป็นกรดด่างในดินได้ดี…ไว้จะมาเล่าในโอกาสหน้า) แต่ทุกปุ๋ยมักมีไนโตรเจนเป็นพระเอกคนสำคัญ ดังนั้น ระวังจะทำให้ด่านตรวจกระเป๋าแตกตื่น เพียงเพราะเพิ่งใส่ปุ๋ยให้กับบรรดาพืชผักผลไม้ที่บ้านก่อนออกเดินทาง!

เรื่องราววันนี้ เป็นอีกตัวอย่างของวิทยาศาสตร์เปลี่ยนโลก มนุษย์เราไม่เคยหยุดที่จะสรรหาหนทางใหม่ ๆ เพื่อความอยู่รอด บางนวัตกรรมช่วยสร้างสรรค์ แต่บางนวัตกรรมกลับทำลาย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของท่าน.. ทุกท่านซึ่งเป็นผู้ใช้ “วิทยาศาสตร์” ท่านเลือกได้ เหมือนที่ท่านเลือกที่จะใช้ไนโตรเจนเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตพืชและเพื่อนมนุษย์ … หรือจะใช้มันเพื่อทำลายกัน

category: thoughts 
tag: science  plant  ภาษาไทย 

Read more thoughts: